Reviews
PHR Speaker Worth to hear Thai modification
1/2
PHR Speaker DEMO
เดิมนั้นผมตั้งใจไว้ว่าจะนำเสนอผลการทดลองฟังเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นเสียงโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะขอแนะนำลำโพงตัวเล็กๆคู่หนึ่งซึ่ง คุณสารัตน์ สุขสมทิพย์ ได้อุตส่าห์ยกมาให้ผมลองฟังเล่นๆตั้งแต่ยังเป็น DEMO ก่อนวางตลาด ซึ่งบัดนี้คงได้วางตลาดไปแล้วพักใหญ่ อีกทั้งน่า
จะมีผู้วิจารณ์ท่านอื่นๆพูดถึงลำโพงคู่นี้ไปบ้างแล้วด้วย
แต่ก็คงไม่เป็นไรถ้าผมจะขอพูดถึงลำโพงคู่นี้ในลักษณะของการนำความรู้สึกของคนชอบฟังเพลงมาเล่าสู่กันฟังแบบไม่ใช่การวิจารณ์ สำหรับลำโพงคู่นี้ คุณสารัตน์ฯได้แจ้งให้ผมทราบถึงความเป็นมาของมันว่าเป็นลำโพง OEM จากโรงงานในมาเลเซียที่ทำส่งออกเพื่อติดยี่ห้อเครื่องเสียงชื่อดังของญี่ปุ่นยี่ห้อหนึ่ง
ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าตัวตู้จะต้องได้มาตรฐานเหมือนๆกันทุกตัวอย่างแน่นอนแต่ควรถือว่าลำโพง PHR รุ่นนี้เป็นการ modified ไม่ใช่การผลิตจาก Viola หรือจากตัวคุณสารัตน์ฯเอง ซึ่งการ modify ตามที่ได้รับแจ้งนั้นมีการทำผิวตู้ลำโพงเป็นสีดำมันเปียโน เปลี่ยนขั้วลำโพงให้เป็นแบบขันแน่นและสามารถเสียบขั้ว banana ได้ ปรับปรุง crossover ตลอดจนบุภายในเพื่อ acoustic ของตู้ที่สมบูรณ์เต็มที่ ส่วนการทดลองฟังลำโพงคู่นี้นั้นผมได้ใช้สถานที่ 2 แห่งด้วยกัน แห่งแรกคือที่บ้านพักส่วนตัวของผมเองซึ่งจัดวางแบบตามพื้นที่จะอำนวยให้ได้เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างจำกัดแต่ก็ได้ตามสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านทั่วๆไป แห่งที่สองนั้นเป็นการทดลองฟังที่ห้องฟังของ "ร้านเรือนงาม" ซึ่งห้องฟังแห่งนี้ได้รับคำชมจากผู้ออกแบบเครื่องเสียง ALMARO ที่ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเยี่ยมร้านค้าตัวแทนจำหน่ายเมื่อช่วงวันงาน BAV SHOW 2005 ที่ผ่านมา ว่าเป็นห้องฟังที่มีค่า Resonance
จากการวัดค่าด้วยเครื่องมือต่ำดีมากอีกทั้งยังได้ให้คำชมกับน้ำเสียงของลำโพงคู่นี้อีกด้วย แต่ถึงอย่างไรการฟังเพื่อพิจารณาลำโพงคู่หนึ่งนั้นเราคงต้องฟังด้วยตัวเอง ส่วนความเห็นของผู้อื่นและค่าที่วัดได้จากเครื่องมือนั้นคงเป็นสิ่งที่นำมาเพื่อประกอบการพิจารณาอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น
ด้านหน้า(ใส่หน้ากากครอบ)และด้านหลัง
หลังจากที่ได้แกะกล่องนำลำโพง PHR คู่นี้ออกมาพิจารณาก่อนต่อพ่วงเข้ากับ system ที่มี มันทำให้ผมนึกถึงลำโพง ProAc 50 ขึ้นมาทันที เนื่องจากขนาดที่กระทัดรัดใกล้เคียงกันแต่ก็ไม่ได้หวังว่าเสียงจะเหมือนกันแต่อย่างใดเพียงแต่มันดูดีคล้ายๆกันเท่านั้น สำรวจดูตู้ลำโพงโดยรวมๆแล้วผมมีข้อติกับความเรียบร้อยของการทำสีดำเปียโนว่าควรจะทำผิวเป็นวีเนียร์ลายไม้จะดีกว่าเพราะสีดำเปียโนนี้เป็นสีที่ทำให้ดีได้ยากมาก เห็นตำหนิที่เกิดขึ้นเล็กๆน้อยๆได้ง่ายและผู้ใช้ก็ดูแลรักษาลำบากอีกด้วย แม้กระทั่งลำโพงราคาระดับหลายหมื่นก็ยังไม่สามารถเก็บรอยตำหนิบนตู้สีดำเปียโนได้ทั้งหมด
แต่ก็คงเลือกไม่ได้เพราะลำโพง PHR รุ่นนี้มีเพียงสีเดียวให้เลือกเท่านั้น ลำโพง PHR ตัวนี้เป็นลำโพง 2 ทาง Bass reflex พอร์ทเดี่ยวออกด้านหลัง tweeter เป็นชนิดโดมผ้า 1" woofer เป็นชนิดกระดาษเคลือบ 4" วางตำแหน่ง driver ตามแกนแนวดิ่ง ความไว 90 dB ที่ 6 โอห์ม ใช้ได้กับแอมป์ตั้งแต่ 7-80 watts ขนาดตัวตู้ 0.15 x 0.26 x 0.25 ม. ขั้วลำโพงเป็นชนิด single wire สามารถใช้ได้ทั้งขั้วก้ามปูหรือ banana ได้สะดวก ในความเห็นของผมนั้น PHR เป็นลำโพงที่มีหน้าตาดูดีตัวหนึ่งทีเดียว ส่วนเรื่องความประณีตนั้นคงอยู่ระดับ"พอรับได้"ครับ
ขั้วสายลำโพงที่ดูสวยงามแข็งแรงและใช้งานสะดวก
ต้องขอย้ำก่อนรายงานการทดลองฟังลำโพงคู่นี้ว่าเรากำลังพูดถึงลำโพงราคา 8,500 บาท ดังนั้นการคาดหวังสิ่งมหัศจรรย์มากกว่าที่ควรนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักแต่ก็สามารถเป็นไปได้ เรื่องการทดลองฟังนั้นผมได้ทำการฟังลำโพงคู่นี้ในสถานที่แตกต่างกัน 2 แห่งตามที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งจะขอเริ่มที่บ้านพักส่วนตัวของผมเองเป็นอันดับแรก ลำโพงคู่นี้ทางคุณสารัตน์ฯได้แนะนำว่าควรจะให้เวลา break-in อย่างน้อยประมาณ 50-60 ชั่วโมง คิดคร่าวๆก็คือเปิดฟังวันละ 2 ชั่วโมงเป็นเวลาหนึ่งเดือนก็คงจะใช้ได้แล้ว ในเดือนแรกผมจึงเปิดฟังแบบผ่านๆไม่ได้ตั้งใจฟังอะไรแต่ก็สามารถรับรู้ได้ว่าลำโพงคู่นี้เสียงออกแนวค่อนข้างสดดีทีเดียว เมื่อเข้าที่ดีแล้วผมเริ่มฟังเอาเรื่องกับ PHR คู่นี้กับแผ่นที่ถือได้ว่าสามารถนำมาเป็นแผ่นอ้างอิงได้เป็นอย่างดี คือ Ein Straussfest - Cincinnati Pops Orchestra
เพื่อสังเกตุว่าลำโพงสามารถตอบสนองความถี่ย่านกลางต่ำและต่ำของดนตรีที่มี dynamic สูงๆอย่างเพลงประเภท Polka และ March ได้ดีเพียงใด ตลอดจนความถี่ย่านสูงของเครื่องเคาะอย่าง Triangle ที่จะใช้กับดนตรีคลาสสิค จากเพลงแรกจนถึงเพลงสุดท้ายลำโพงคู่นี้ได้แสดงประสิทธิภาพได้ดีพอใช้ เสียงย่านกลางต่ำและต่ำสามารถตอบสนองเสียงของกลอง Timpani ได้ชัดเจนแม้จะเป็นเพียงเสียง background ที่ค่อนข้างเบาในเพลง On The Beautiful Blue Danube ซึ่งทำให้คงอรรถรสของเพลงได้อย่างครบถ้วน และเสียงย่านสูงของ Triangle ในเพลง Feuerfest Polka นั้นสามารถได้ยินในลักษณะลอยออกมาและทอดไกลอย่างสนุกสนานทีเดียว ส่วนข้อด้อยของ PHR คู่นี้ที่ชัดเจนคือเมื่อเพลงมีการโหมอย่างรุนแรงจะแสดงอาการ "เอาไม่ค่อยอยู่" ซึ่งเป็นธรรมดาของลำโพงเล็กๆราคาถูกทั่วไป เป็นอันว่าเรื่องน้ำเสียงนั้น PHR น่าจะผ่านไปได้ส่วนสรรพคุณด้านอื่นๆ เช่น ความมีมิติและตำแหน่งชิ้นดนตรีต่างๆ ผมได้นำลำโพงคู่นี้ไปทดลองฟังที่ "ร้านเรือนงาม" เพื่อให้ได้ความชัดเจนในด้าน accoustic ให้มากที่สุดเนื่องจากที่นั่นมีสภาพการรับฟังที่สมบูรณ์กว่า ที่ "ร้านเรือนงาม" ผมจัดลำโพงให้ห่างกัน 1.60 ม. หันหน้าตรง ห่างจากผนังหลัง 1.00 ม. ห่างจากผนังข้าง 1.10 ม. และจุดนั่งฟังห่าง 2.00 ม. ซึ่งต่างจากที่คู่มือการใช้แนะนำไว้เล็กน้อย
ผลการทดลองฟังปรากฏว่าเสียงบางลงแต่มิติและตำแหน่งชิ้นของเครื่องดนตรีมีความชัดเจนดีขึ้นมาก สาเหตุคงเนื่องจาก system และอุปกรณ์ร่วมที่แตกต่างกันโดยเฉพาะขาตั้งลำโพง ซึ่งการทดลองฟังครั้งแรกใช้ขาตั้งเหล็กของ ProAc 1sc ครั้งที่สองใช้ขาตั้งไม้ MDF ของ PHR เอง อีกทั้ง system ในการทดลองฟังครั้งแรกนั้นมีคุณภาพสูงกว่าครั้งที่สองมาก แต่สภาพ accoustic ที่ดี ของ "ร้านเรือนงาม" แห่งนี้ก็สามารถทำให้ลำโพง PHR แสดงประสิทธิภาพได้อย่างน่าทึ่งทีเดียวทั้งในเรื่องของมิติและตำแหน่งของเครื่องดนตรี แสดงให้เห็นว่าการใช้เครื่องเสียงธรรมดาๆในห้องที่มี accoustic ที่ดีนั้นดีกว่าไปลงทุนมากๆให้กับเครื่องเพียงอย่างเดียว การทดลองฟังครั้งที่สองนี้ผมได้นำแผ่นชุด Nightclub - Patricia Barber แผ่นที่ผมชอบมากที่สุดแผ่นหนึ่งมาเพื่อทดลองฟังเสียงร้อง PHR ก็สามารถถ่ายทอดเสียงร้องได้อย่างชัดเจน ความเป็นมิติและตำแหน่งเครื่องดนตรีมีตัวตนเสียงหลุดจากลำโพงอย่างน่าพอใจ การทดลองฟังโดยรวมดีขึ้นทุกๆด้านเมื่อเล่นกับเพลงประเภท Jazz ที่มีเครื่องดนตรีน้อยชิ้น
ห้องฟังของ"ร้านเรือนงาม" ชั้น2 อาคารเมืองไทยภัทร ถ.รัชดาภิเษก ใกล้สี่แยกสุทธิสาร
ผมจะไม่บอกว่าลำโพง PHR คู่นี้เป็นลำโพงที่ดีที่สุดในระดับราคาไม่เกิน 10,000 บาท เนื่องจากในท้องตลาดทุกวันนี้มีลำโพงหน้าตาสวยๆเสียงดีๆราคาระดับนี้ให้เลือกนับไม่ถ้วนโดยเฉพาะลำโพงยี่ห้อฝรั่งทำในจีน แต่ผมกล้าพูดได้ว่าลำโพง PHR คู่นี้มีเสียงที่ดีสมราคาซึ่งเป็นการขายฝีมือการ modify ของนักประดิษฐ์ไทยที่ทำได้ดี ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจลำโพง PHR นี้ คือ เป็นลำโพงที่เหมาะสำหรับเพลงประเภทร้องหรือประเภท Jazz น้อยชิ้นในห้องฟังขนาดเล็กซึ่งจะให้เสียงที่อิ่มเต็มที่ อีกทั้งหากมีเวลาผมอยากเชิญชวนให้ไปลองฟังกันเล่นๆที่ "ร้านเรือนงาม" ชั้น2 อาคารเมืองไทยภัทร ถ.รัชดาภิเษก ใกล้สี่แยกสุทธิสาร รับรองว่าไม่ใช่เป็นการเสียเวลาอย่างแน่นอน
จุดเด่น - เสียงสดฟังสนุก
จุดด้อย - การทำสีตัวตู้ยังมีข้อตำหนิอยู่บ้าง
ชุดที่ 1
- EAR 834 Push/Pull Pure Class A Integrated Amp. (50W./CH)
- Luxman L507s Integrated Amp. (100W./CH)
- VPI HW-19 jr. / RB250 Incognito Tonearm
- Grado Prestige Green Cartridge
- Viola PH-1 Phono Stage
- TOTEM Rainmaker Speaker
- Vampire CC-1 Interconnect Cable
- Transparent Music Link Speaker Cable
ชุดที่ 2
- Cambridge Audio A300 V2 Integrated Amp. (60W./CH)
- VPI HW-19 jr. / RB250 Incognito Tonearm
- Grado Prestige Green Cartridge
- Viola PH-1 Phono Stage
- Merrex Copper1 Interconnect Cable
- Accoustic Zen Speaker Cable