Website for Vinyl Lovers
www.musicfountain.net

Home   |    Vinyl Club   |    Reviews   |    LP Shop   |    Acoustics   |    Gallery   |    Services   |    FAQs   |    Order & Contact

Reviews
Review Origin Live Aurora MKII


Origin Live MKII with OL1 tonearm


"ผมกำลังเปลี่ยนเครื่องเล่นแผ่นเสียง หลังจากมองหาเครื่องเล่นมาหลายรุ่นหลายยี่ห้อมานาน ก็มาลงตัวที่ Origin Live รุ่น Aurora MKII"

เมื่อหลายปีก่อนผมอ่านรีวิวเครื่องเล่นแผ่นเสียง Origin Live Aurora รุ่นแรก โดย Group Test กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงหลาย ๆ ตัว ในระดับราคาที่ไล่เลี่ยกัน รีวิวนั้นคะแนนของ Origin Live Aurora ได้มากที่สุด แต่ในวันนั้นผมก็ยังไม่ได้สนใจเครื่องเล่นแผ่นเสียงเครื่องนี้มากนัก จนกระทั่งเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ผมใช้อยู่มันต้องถอยเข้าอู่และทำท่าว่าจะแก้ยากเย็นแสนเข็ญ

ก่อนที่ผมจะตัดสินใจเลือกเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้ ผมมองไปที่ Rega P3/24 เป็นตัวแรก เป็นเพราะว่าเรก้าอัพเกรดโทนอาร์ม RB300 ใหม่เอี่ยมอ่องเป็น RB301 และเป็นที่รู้กันว่าอาร์มของเรก้านั้นสุดยอดไม่แพ้อาร์มใดในโลก แม้ว่าเครื่องเล่นเรก้ายังคงเหนียวแน่นไม่ยอมปรับปรุงในเรื่องการตั้งค่า VTA ก็ตาม แต่สิ่งที่ผมให้คะแนนเรก้าต่ำมากอีกประการก็คือตัวแท่น (Plinth) ที่ยังดูเชยและเรียบเกินไป เหมือนกับว่าเรก้าไม่ได้สนใจการออกแบบให้มันดูดีเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าราคา 37,000-38,000 จะไม่มีเครื่องเล่นตัวไหนเทียบกับเรก้าได้แล้วก็ตาม แต่ผมยังคิดว่าไม่คุ้มค่าเสียเท่าไหร่ เพราะถ้าผมเพิ่มเงินอีกนิดหน่อยผมน่าจะได้เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ดีกว่านี้

ตัวต่อมาที่ผมดูเอาไว้คือ Clearaudio Emotion (CAE) ซึ่งผมชอบเสียงที่แจกแจงรายละเอียดดีของเครื่องเล่นตัวนี้ ตัวแท่นที่ทำจากอาครีลิกขาวขุ่นก็ดูสวยงาม อาร์มของ CAE ก็เป็นอาร์มที่ดีเยี่ยม แต่ราคามันกระโดดไปถึง 59,000 บาท ซึ่งผมคิดว่าราคาของ CAE น่าจะอยู่ที่ 45,000 บาท หากว่า CAE ตั้งราคาอยู่ที่ 45,000 บาทจะทำให้เทิร์นตัวนี้น่าสนใจและเป็นตัวเลือกสำหรับคนในระดับเริ่มต้นจะขยับมาเล่นในระดับกลางได้ง่ายกว่า (ขายตัวเก่าแล้วเพิ่มเงินมาซื้อระดับกลางตัวใหม่ ก็จ่ายเพิ่มอีกไม่มาก) เป็นอันว่าตัด CAE ออกไปอีกรายหนึ่ง

ตัวสุดท้ายเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงในฝันของผม นั้นคือ VPI Scout ผมโทรศัพท์ไปสอบถามตัวแทนจำหน่ายว่ามีเครื่องอยู่ในสต๊อคหรือไม่ ปรากฏว่ามีเหลือเพียง VPI Scout รุ่นพิเศษ ซึ่งมีราคาสูงถึง 85,000 บาท มันเกินงบประมาณของผมไปมากหลายเท่าตัว ผมไม่มีเงินมากขนาดนั้นที่จะนำมาซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงสนองความต้องการของตัวเอง ทั้งที่ราคา VPI Scout ธรรมดา น่าจะอยู่ที่ 65,000 บาท ถ้าหากวันที่ผมโทรศัพท์ไปยังตัวแทน ถ้าเขามีเครื่องเล่นแผ่นเสียง VPI Scout ซึ่งขายในราคา 65,000 บาท (ซึ่งเกินงบประมาณของผมไปเช่นกัน) ผมอาจจะตัดสินใจเพิ่มงบประมาณแล้วซื้อ VPI อย่างแน่นอน ผมคิดว่าเรื่องราคาในบ้านเราเป็นอุปสรรคต่อนักเล่นแผ่นเสียงจริง ๆ แต่จะทำอย่างไรได้ครับ เพราะเราแทบไม่มีทางเลือกเลย

ส่วนเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้ออื่นเช่น Pro-Ject ผมไม่ค่อยชอบอาร์มของเครื่องเล่นยี่ห้อนี้เสียเท่าไหร่ เครื่องในระดับกลางก็มีราคาเอาเรื่องเหมือนกัน จึงไม่ได้สนใจหรืออยู่ในลิสต์การพิจารณา

แต่ที่ผมเสียดายก็คือเครื่องเล่น Roksan Radius 5 ซึ่งงบประมาณเกินกระเป๋าของผมไปมากตั้งแต่ผมสอบถามราคา เป็นอันตัดตกไปตั้งแต่ยังไม่ได้ดูสเปคของมัน (แล้วผมก็สงสัยว่าทำไมราคาของ Roksan Radius 5 ถึงแพงขึ้นเรื่อย ๆ ) แต่ที่น่ากลัวมากที่สุดสำหรับผม กลับเป็นว่าผมไม่รู้ว่าตัวแทนจำหน่ายนั้นเข้าใจเรื่องเครื่องเล่นแผ่นเสียงแค่ไหน เพราะผมเคยเข้าไปขอฟังเสียงลำโพงที่ตัวแทนแห่งนี้แล้ว ไม่ค่อยเชื่อว่าเขาจะเข้าใจเครื่องเล่นแผ่นเสียงนัก (แต่ผมอาจจะเป็นคนผิดที่คิดแบบนั้นก็ได้)

สุดท้ายผมก็ยูเทิร์นมาพบกับ Origin Live Aurora ซึ่งในปัจจุบันพัฒนามาสู่เจนเนอเรชั่นที่สองแล้ว (และน่าจะพัฒนาไปได้อีกไกล)

Origin Live ก่อตั้งโดย มาร์ค เบเกอร์ (Mark Baker) ในปี 1986 เขาเป็นคนที่คลั่งไคล้ในเสียงดนตรีคนหนึ่ง การที่เป็นนักประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เขาก้าวเข้ามาออกแบบอุปกรณ์เครื่องเสียง ผลิตภัณฑ์แรกของ Origin Live ก็คือสายสัญญาณในแบบสายแกนเดี่ยว ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมายจากนิตยสารไฮไฟ Origin Live ไม่ได้หยุดอยู่กับความสำเร็จ เขายังคงออกแบบเครื่องเล่นแผ่นเสียง ลำโพง และอุปกรณ์เครื่องเสียงอื่นๆต่อไป

หลักปรัชญาของ Origin Live ก็คือออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าสมกับราคา นั่นทำให้บริษัทสามารถพัฒนาก้าวไกลจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ฐานการผลิตของ Origin Live อยู่ที่เมืองเซาท์แธมตัน สหราชอาณาจักร ซึ่งยังคงเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศอังกฤษ แต่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อให้กับ Origin Live กลับเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง ซึ่งเครื่องเล่นแผ่นเสียง Origin Live มีรูปแบบการออกแบบที่เฉพาะตัว มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ในแต่ละรุ่นเพิ่มเติมความแตกต่างบนความเหมือน โครงสร้างของเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้ถูกออกแบบให้ลดเรโซแนนซ์ ขณะเดียวกันก็มีความเรียบง่าย

เครื่องเล่นแผ่นเสียงของ Origin Live มีด้วยกัน 5 รุ่น คือรุ่นเล็กสุด Aurora MKII, Calypso, Resolution MKII, Sovereign MKII และ Resolution Classic

ผมเลือกซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุน Aurora MKII ซึ่งเป็นรุ่นที่เล็กสุด ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดและต้องการเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่สมราคา ทั้งกลไกที่ดี และหน้าตาที่สวยงาม

เครื่องเล่นแผ่นเสียง Origin Live Aurora MKII มีตัวแท่นให้เลือกหลายแบบ แบบที่เป็นมาตรฐานทำจากอคลีลิกสีดำ ส่วนตัวแท่นอื่นต้องสั่งพิเศษ มีทั้งแบบใส และแบบสีขาวขุ่นให้เลือก แต่ผมชอบสีดำอยู่แล้ว เพราะดูเข้มแข็ง และดูเก่ายากกว่าแบบอคลีลิกใส


Rega RB250


ตัวโทนอาร์มของ Origin Live Aurora MKII นั้นสามารถเลือกใส่ได้สองแบบคือโทนอาร์ OL1 ซึ่งทาง Origin Live ได้ให้ทางเรก้าเป็นผู้ผลิต โดยตัว OL1 นั้นดัดแปลงมาจากโทนอาร์ม RB251 นั่นเอง โทนอาร์มอีกตัวที่สามารถใส่กับ Origin Live Aurora MKII ได้ก้คือ โทนอาร์ม Silver

Origin Live Aurora MKII เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบสายพาน มอร์เตอร์แยกส่วนไม่ติดกับตัวแท่น จุดนี้มีทั้งข้อดีข้อเสียก็คือ ช่วยลดเรโซแนนซ์ได้ดีกว่า แต่ข้อเสียก็คือมอร์เตอร์ปราศจากฐานยึดทำให้รอบการหมุนมีโอกาสเพี้ยนได้

ดังนั้นก่อนเล่นจะต้องเช็คระยะจากมอร์เตอร์ไปยังจุดกึ่งกลางทุกครั้ง ส่วนรอบการหมุนมีสองสปีดด้วยกันคือ 33 rpm และ 45 rpm โดยสามารถเปลี่ยนรอบด้วยการคลิกสวิสต์ควบคุมที่มอร์เตอร์เท่านั้น


Unpacked package : motor, base, platter and wallward plug


ในที่สุดเครื่องเล่นแผ่นเสียง Origin Live Aurora MK2 ก็เดินทางมาถึง กว่าจะผ่านขั้นตอนศุลกากรเล่นเอาเสียเวลาไปหลายวัน นี่ขนาดส่งมาทาง FedEx มืออาชีพยังตกท่อปล่อยให้สินค้าตกค้าง ไม่รู้จะตีค่าภาษีอย่างไรเกือบหนึ่งสัปดาห์เมื่อเครื่องมาถึงตัวแทนจำหน่าย ผมก็ไปรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงตามวันเวลาที่นัดแนะเพื่อที่จะได้ไปชม+ช่วยประกอบเครื่อง

ระหว่างที่ผมรอเครื่องเล่นแผ่นเสียงเดินทางมาจากอังกฤษนั้น ผมได้ค้นหาข้อมูลรวมถึงพิมพ์คู่มือของเครื่องเล่นแผ่นเสียง Aurora MKII จากเวบไซต์ Origin Live มาศึกษาข้อมูลก่อน ทำให้เข้าใจระบบการทำงานของเครื่องพอสมควร แม้ว่าจะไม่ทั้งหมด เพราะคู่มือก็มีข้อจำกัด


Base Unit


เครื่องเล่นแผ่นเสียง Origin Live ในแต่ละรุ่นจะมีโครงสร้างที่คล้าย ๆ กันคือ จะมีฐานของเครื่อง (Base) แท่นฐานหลักนี้ทำจากอาครีลิกหนา ตัวนี้แต่ละรุ่นจะมีความหนาบางต่างกัน รุ่นแพงก็จะมีความหนาของแท่นฐานเพิ่มขึ้น ส่วนที่สองคือโครงรองรับ (Sub-Chassis) ซึ่งทำจากโลหะชุบมีรูปร่างที่แปลกพอสมควร แต่เป็นหัวใจของเครื่อง เพราะจะเป็นตัวยึด Bearing House และ รูสำหรับติดโทนอาร์ม โดยมีตัว ดั้มเปอร์ ลดแรงสั่นสะเทือนติดอยู่ใกล้แบริ่งเฮาส์ เจ้าโครงรองรับนี้จะใช้รูปแบบเดียวกันในทุกรุ่น ส่วนรายละเอียดอุปกรณ์เสริมแตกต่างกันไป

สำหรับโทนอาร์มที่มากับ Aurora MKII เป็นโทนอาร์ม OL1 รุ่นใหม่ ดัดแปลงมาจากอาร์มเรก้ารุ่น RB251 นั่นเอง จุดที่ดัดแปลงก็คือตัวโทนอาร์มจะมีขาสามขา อันเป็นตำแหน่งยึดตัวแท่นแบบตายตัว เจ้าตัวยึดสามขานี้ทำให้เราติดโทนอาร์มได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือวัดระยะ แต่ข้อเสียของมันก็คือปรับ VTA ไม่ได้ ถ้าเป็นอาร์มรุ่นเก่าจะสามารถสวมแหวนปรับ VTA ได้เลย


Platter Bearing


Acrylic Platter in package


ขั้นที่สองการติดโทนอาร์ม OL1 ซึ่งเราพบว่ามีปัญหาเล็กน้อย ประการแรกคือเขาให้ตัวรองขามาอันเดียวซึ่งลองดูแล้วมันเตี้ยไปหน่อย ตัวรองขามีลักษณะเป็นวงกลมทำจากอาคลีลิกหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร เจาะรูตรงกลางเพื่อให้ที่ยึดโทนอาร์มใส่ลงไปได้ วิธีการยึดโทนอาร์มกับแท่น เอาตัวรองวางบน Sub-Chassis เล็งในรูของน๊อตทั้งสามขาตรงกัน

จากนั้นก็วางตัวยึดโทนอาร์มตามรูน๊อตสามขา ใส่น๊อตลงไปเพื่อขันให้แน่น อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นคือ ตัวโทนอาร์มมันเตี้ยไปหน่อย ถ้าให้ดีควรจะมีเจ้าตัวรองเพิ่มสักสองถึงสามอัน แต่ทาง OL ให้เรามาแค่อันเดียว เราจึงแก้ปัญหาด้วยการสวมแหวนรองเพื่อเพิ่มความสูงของตัวโทนอาร์ม แม้มันจะดูไม่ค่อยดี แต่ก็ใช้งานได้


Platter installed with base unit


การติดตั้งโทนอาร์มเสียเวลาไปพอสมควร แต่ก็เรียบร้อยดีไม่มีปัญหา ขั้นต่อไปคือติดตั้งหัวเข็ม หัวเข็มที่ผมจะให้ทางตัวแทนติดให้คือ Benz Micro 20E ซึ่งเป็นหัวเข็มแบบ MC Hight Output หัวเข็มตัวนี้เป็นหัวเข็มตัวเก่าที่ผมแกะมาจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวเดิม มันไม่ได้ใช้มานานหลายเดือนแล้ว ดูจากสภาพภายนอกออกจะโทรมหน่อย แต่ไม่เป็นไรครับใส่ลงไปก่อน อนาคตค่อยหาตัวใหม่มา ว่ากันว่าตัวโทนอาร์มเครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่าของผม มันยังไม่สามารถแสดงศักยภาพเสียงของ 20E ได้เต็มที่นัก ผมจึงคิดว่ากับเครื่องเล่นนี้มันน่าจะได้อะไรเพิ่มมากขึ้น


Tonearm installation


การตั้งหัวเข็มไม่มีอะไรยุ่งยาก ขั้นแรกก็ใส่หัวเข็ม ยึดน๊อตเอาไว้พอให้ปรับได้ ตอนใส่น๊อตอาจจะยากหน่อยถ้าให้ดีต้องมีผู้ช่วยคอยช่วยอีกคน จากนั้นก็ใช้ Protractor วัดระยะ Null Point วัดระยะที่โทนอาร์มวิ่งผ่านไปยังจุดศูนย์กลาง ค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ วัด ทำเสร็จแล้วก็ทำซ้ำอีกหลายรอบ เพื่อความแน่ใจว่าตรง จากนั้นค่อยขันน๊อตให้แน่น สุดท้ายวัดน้ำหนักที่ 2.0 แกรม ขั้นตอนสุดท้ายคือเอามอร์เตอร์มาลองหมุนกับแพลตเตอร์เพื่อวัดรอบการหมุนว่าได้ 33.3 รอบต่อนาที และ 45 รอบต่อนาทีหรือไม่


VTF setting


สิ่งหนึ่งที่ผมชอบเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้ก็คือตัวมอเตอร์นั้นมีขนาดที่ใหญ่ ใช้ไฟ DC ทำให้มีความเงียบ และนอกจากนั้นยังสามารถปรับจูนความเร็ว-ช้า ของรอบได้อย่างระเอียดด้วย ซึ่งทำให้มั่นใจว่ารอบการหมุนสามารถปรับให้ตรงได้อย่างแท้จริง.........to be continue โปรดติดตามตอนต่อไป


Aurora MK2 ของคุณนิวัต


ผมขอขอบคุณ คุณนิวัต พุทธประสาท ที่ได้กรุณานำ Aurora MK2 และการ Set up ของผมนี้ไปทำรีวิวในบล๊อคส่วนตัว ซึ่งผมขออนุญาตถือวิสาสะนำมาเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจได้อ่านกันเพลินๆครับ




 
Website for Vinyl Lovers
Music Fountain:
Lobby: 1811/61 Parkland Grand Petchuburi Ext, Bangkok Thailand 10310
Audition Office: 88/7 Soi Prachankadee Sukhumvit 39 (Prompong), Bangkok Thailand 10110
Telephone: 091-128-1128

Send mail to musicfountain@yahoo.com with questions or comments about this web site.
Copyright© 2003 Music Fountain