หน้าเว็ปไซท์สำหรับคนที่รักแผ่นเสียงทุกท่าน ได้นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงและอุปกรณ์ของตนด้วยความภูมิใจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องที่มีราคาแพงหรือยี่ห้อ/รุ่นที่หายากแต่อย่างใด เพียงท่านได้รับความสุขและเพลิดเพลินจากเครื่องตัวนั้น ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือปัจจุบัน ท่านก็สามารถนำมาลงได้ในหน้านี้เพื่อฝากไว้เป็นที่ระลึก เป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งที่น่าชื่นชมระหว่างผู้ที่รักในสิ่งเดียวกัน ขอให้ท่านรีบส่งภาพถ่ายดิจิตอลพร้อมคำบรรยาย มาที่ musicfountain@yahoo.com ไม่นานนักเราจะนำเรื่องราวของท่านมาประดับไว้ในหน้านี้ต่อไป
เรื่องนี้สืบเนื่องมาจาก คุณยุทธ นักเล่นเครื่องเสียงที่ชอบ DIY เป็นชีวิตจิตใจ ได้ปรารภกับผมในเรื่องที่จะทำแท่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงเองสักตัวหนึ่ง แต่ยังติดปัญหาอยู่ที่จะใช้วัสดุอะไรที่เหมาะสม ง่าย และราคาไม่แพงจนเกินไป ซึ่งหลังจากที่ได้ปรึกษากันแล้วก็สรุปได้ว่าแผ่น MDF น่าจะเป็นวัสดุที่พึงประสงค์ที่สุด โดยผมจะขอเป็นธุระจัดการให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างที่สมบูรณ์ตาม spec ที่คุณยุทธได้กำหนดมาให้
รูปแสดง เครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY ของคุณยุทธที่ประกอบเสร็จแล้ว
งานนี้ผมจึงต้องมองหาช่างไม้ฝีมือดีมาเป็นแรงสำคัญอีกแรงหนึ่ง ซึ่งก็ได้ คุณฐิติ จิรยุส เจ้าของกิจการบริษัท บลูคอลล่า จำกัด ที่เห็นว่างานนี้เป็นงานท้าทายซึ่งต้องมีความละเอียดประณีตเป็นพื้นฐานสำคัญ มาเป็นผู้ผลิตชิ้นงานโดยมีผมเป็นผู้ควบคุมคุณภาพให้ได้ตามกำหนด ความสนุกจึงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลางปี 2546 นั่นเอง
โดยเริ่มจากนำแผ่น MDF ขนาดความหนา 1.9 มม.มาอัดกาวซ้อนเข้าด้วยกัน 5 ชั้น เพื่อให้ได้ความหนารวมประมาณ 4 นิ้ว ยึดเข้า clamp ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ แล้วจึงนำแผ่น MDF ที่อัดจนได้ที่ดีแล้วมาเข้าเครื่องเลื่อยฉลุเพื่อตัดออกมาตามแบบของแท่นและ armboard งานนี้เครื่องมือช่างตามบ้านเรือนทั่วๆไปคงจะใช้ไม่ได้เพราะความหนาของชิ้นงาน เราจึงต้องการเครื่องมือที่มีความเร็วสูงและแม่นยำ ก็ได้เครื่องเลื่อยฉลุในโรงงานของคุณฐิติจัดการจนเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็เล่นเอาทุลักทุเลพอสมควรเหมือนกัน เนื่องจากการเจาะช่องติดตั้งชุด bearing นั้นเครื่องมือเจาะระดับงานเฟอร์นิเจอร์ไม่แม่นยำเพียงพอ เนื่องจากผิดพลาดได้เพียงไม่เกิน 1 มม.เท่านั้น อีกทั้งจะต้องเจาะช่องให้ตั้งฉาก 90 องศาพอดี เอียงแม้เพียงเล็กน้อยไม่ได้อย่างเด็ดขาด หลังจากทดลองเจาะกับชิ้นทดลองพลาดไปเป็นรอบที่สอง ก็ตกลงกันว่าคงจะต้องนำไปขึ้นแท่นของโรงกลึงจึงจะทำการนี้ได้สำเร็จ ซึ่งก่อนนำชิ้นงานนี้ขึ้นแท่นทางโรงกลึงจะต้องทำการล้างแท่นกลึงให้สะอาดปราศจากคราบน้ำมัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเวลาทำสีชิ้นงาน สรุปว่ากว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ก็เล่นเอาหัวหมุนใช้ได้ทีเดียว เสร็จแล้วก็นำชิ้นงานทั้งหมดนี้ไปทำสี ซึ่งก็ได้ขัดแต่งชิ้นงานอย่างละเอียดแล้วพ่นเป็นสีดำเพื่อให้ดูเรียบร้อยสวยงาม
รูปแสดง ฐานแท่นเครื่องตามแบบเมื่อแล้วเสร็จ
ลักษณะของเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวนี้จะเป็นแบบ rigid ไม่มีระบบรองรับ (unsuspension) ติดโทนอาร์ม 2 ตัวบน swing armboard เพื่อให้สามารถปรับระยะ spindle to pivot ได้กับโทนอาร์มทุกแบบ โดยเบื้องต้นนี้คุณยุทธได้ตั้งใจไว้ว่าจะติดตั้งโทนอาร์ม Graham 1.5 ร่วมกับ Hadcock 228 Platter เป็นของ Teres Audio ทำจากอาครีลิค 3 ชั้น รวมความหนาประมาณ 3 นิ้ว แต่ผมได้ให้ข้อเสนอแนะกับคุณยุทธว่าน่าจะทำอาร์มบอร์ดใหม่เป็นอาครีลิคใสจะสวยงามกว่ามาก ซึ่งจะเข้ากับ platter ที่ทำจากอาครีลิคเช่นเดียวกัน
รูปแสดง อุปกรณ์ bearing, boot และ platter ของ Teres Audio
มาดูระบบขับเคลื่อนอีกอย่างหนึ่งซึ่งก็ต้องยอมรับความเป็นนัก DIY ของคุณยุทธเป็นอย่างมาก ที่ได้นำเอามอเตอร์ในเครื่องเล่น VDO มาบรรจุลงกระป๋องถ่วงน้ำหนักด้วยตะกั่วตกปลาเพื่อเป็นมอเตอร์แบบ stand alone พร้อมทั้งสายพานที่ใช้ไหมขัดฟัน (ต่อมาเปลี่ยนไปใช้ยางยืดขอบกางเกงนอนแทน) ประกอบการควบคุมความเร็วรอบด้วยวงจรที่จ้างช่างต่อเอง ส่วน bearing และ platter นั้นคุณยุทธได้ใช้ของ Teres ทั้งหมด
รูปแสดง อุปกรณ์ชุดวงจรควบคุมความเร็วและมอเตอร์ ที่เป็น DIY ทั้งหมด
การประกอบแท่นเข้ากับอุปกรณ์อื่นๆนั้น เริ่มจากนำ boot มาติดตั้งลงในช่องที่เจาะไว้บนแท่นพร้อมกับบรรจุแผ่นรองลูกปืนที่ก้น boot ให้เรียบร้อย ก่อนจะหยอดน้ำมันให้ได้ระดับตามคู่มือกำหนด ต่อจากนั้นนำ bearing มาใส่ลงใน boot แล้วจึงติดตั้ง platter เสร็จแล้วจึงหมุน platter ไปมาเพื่อไล่อากาศออกจาก boot ให้หมด จะเห็น bearing ค่อยๆลดระดับลง ไม่เช่นนั้น bearing จะถูกอากาศดันให้ลอยโด่เด่
รูปแสดง การติดตั้งชุด bearing บนแท่นเครื่อง
รูปแสดง การติดตั้ง platter บนแท่นเครื่อง
รอจน bearing ลดตัวลงจนสนิทเป็นที่เรียบร้อย จึงนำ armboard มาติดตั้งเข้ากับแท่นเครื่องทั้ง 2 ข้างเพื่อใช้กับ tonearm 2 ตัวซึ่งจะนำ Hadcock 228 มาติดตั้งเป็นตัวแรกเพื่อทดลองดูก่อน โดยติดหัวเข็มของ Audio Technica รุ่น AT440ML ซึ่งหัวเข็ม mm รุ่นสูงที่ราคาประหยัดและเพื่อให้เป็นเครื่องเล่นที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นจึงต้องมี clamp ของ Michell มาร่วมด้วยอีกหนึ่งชิ้น
รูปแสดง โทนอาร์ม Hadcock 242 พร้อมหัวเข็ม เมื่อติดตั้งเรียบร้อย
สรุปราคาค่าตัวของแท่นเครื่องเล่นนี้ตกประมาณ 3,000 บาท ใช้เวลาว่างค่อยๆทำกันไปกว่าจะเสร็จก็ร่วม 3-4 เดือน ยังไม่รวมราคา platter และ bearing ส่วนโทนอาร์มนั้นอีกต่างหาก ซึ่งที่จริงคิดแล้วกำเงินไปซื้อเขามาเล่นน่าจะคุ้มกว่า แต่สิ่งที่ได้จากงานนี้นั้นเราได้มากกว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงหนึ่งตัว เพราะผมได้เพื่อนที่ชอบเล่นแผ่นเสียงอีกคนหนึ่งครับ แล้วหากเครื่องเล่นตัวนี้มีอะไร upgrade ขึ้นไปอีก ผมก็จะนำเรื่องราวมาเสนอเพิ่มเติมต่อไป
ผมขอนำเรื่องเพิ่มเติม จาก คุณยุทธ ที่ได้ส่งมาให้ทาง email มาลง update ต่อจากที่ได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นความคืบหน้าของการ DIY เครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวนี้ พร้อมได้รับเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆและความเพลิดเพลิน ขอเชิญชมตามสบายครับ
รูปแสดง การติดตั้งโทนอาร์ม Graham 1.5 เพื่อเล่นสลับกับ Hadcock 228
ล่าสุดคุณยุทธได้ปรับปรุงเครื่องเล่นตัวนี้อีกหลายจุด เริ่มจากหัวใจสำคัญคือมอเตอร์ขับเคลื่อน หลังจากได้ลองผิดลองถูกมาตั้งแต่มอเตอร์ที่ถอดจาก Thorens TD 280 ซึ่งมีแรงบิดไม่พอหมุน platter ที่หนักร่วม 5 กิโลกรัมได้ อีกทั้งมอเตอร์ DC ที่ถอดมาจากเครื่อง VDO เครื่องเล่นเทปติดรถยนต์ มอเตอร์ Mitsubishi ตัวละ 60 บาทซื้อแถวบ้านหม้อใช้ร่วมกับชุด voltage regulator ราคา 250 บาท ก็ให้รอบหมุนที่ไม่ stable แถมเสียงครางของมอเตอร์ดังจี๋ๆๆ หันมาเล่นมอเตอร์บ้านหม้อ AC 24V ตัวละ 380 บาท ก็ให้รอบที่ stable พอใช้แต่หมุนไม่เรียบซึ่งคงเป็นอาการที่เรียกว่า cogging สุดท้ายมาลงตัวกับมอเตอร์ AC 16 poles ที่ถอดมาจากเครื่องเล่น Dual โดยปรับขนาด pulley ให้เส้นรอบวงใหญ่ขึ้น ปรากฏว่าใช้ได้ดีมาก รอบนิ่งและเงียบ ซึ่งคุณยุทธได้ติดตั้งมอเตอร์ตัวนี้โดยยึดบนกระป๋องทองเหลืองถ่วงด้วยตะกั่วตกปลาเพื่อเพิ่มน้ำหนัก
อีกเรื่องหนึ่งคือ สายพาน ที่แต่เดิมก็ลองใช้มาตั้งแต่ dental foss แต่พอใช้นานไปด้ายจะแตกเป็นฝอยหลุดติดแกนมอเตอร์ ส่วน elastic ขอบกางเกงก็ใช้ได้ดีแต่มีเสียงดังรบกวนมากพอควร สุดท้ายเวลานี้จึงมาลงเอยกับด้ายเย็บผ้านำมาถักเป็นเปียให้เส้นใหญ่ขึ้น ผลเป็นที่น่าพอใจไม่มีเสียงรบกวนใดๆเลย
รูปแสดง มอเตอร์จากเครื่องเล่น Dual กับสายพานที่ถักจากด้ายเย็บผ้า
ปัจจุบันคุณยุทธได้ติดตั้งโทนอาร์มเพิ่มอีก1ตัว คือ Graham 1.5 ติดหัวเข็ม MC ของ Denon รุ่น DL304 โดยติดตั้งบนกระป๋องทองเหลืองถ่วงน้ำหนักเช่นเดียวกับมอเตอร์ ไม่ได้อยู่บนแท่นเหมือนกับโทนอาร์ม Hadcock 228 ที่ติดตั้งไว้ก่อนหน้านี้ สรุปน้ำเสียงในเบื้องต้นนี้คุณยุทธบอกว่าเป็นที่น่าพอใจ แต่เนื่องจากยังไม่มีตัวเปรียบเทียบจึงไม่สามารถกล่าวอะไรได้มากนัก ที่สนุกคือสามารถสลับฟังอาร์มและหัวเข็มได้ตามอารมณ์และแนวเพลงได้สะดวก
หมายเหตุ : ล่าสุดได้เปลี่ยนสายพานเป็นของ VPI HW19 jr. แต่เป็นของเก่าที่ผม (ผู้เขียน) เปลี่ยนกับเครื่องเล่นที่บ้าน จะทิ้งก็เสียดายเพราะสภาพยังดียืดมากกว่าเส้นใหม่เล็กน้อย จึงส่งทางไปรษณีย์ไปให้คุณยุทธทดลองใช้แทนเส้นด้าย ปรากฏว่าใช้งานได้ดีมากถือเป็นการ re-use ประหยัดทรัพยากรไปในตัว
Website for Vinyl Lovers Music Fountain: Lobby: 1811/61 Parkland Grand Petchuburi Ext, Bangkok Thailand 10310 Audition Office: 88/7 Soi Prachankadee Sukhumvit 39 (Prompong), Bangkok Thailand 10110 Telephone: 091-128-1128 Send mail to musicfountain@yahoo.com with questions or comments about this web site. Copyright© 2003 Music Fountain |