T h e f i r s t w e b s i t e f o r v i n y l l o v e r s i n T h a i l a n d
|
Vinyl Club
Reviews
LP Shop
Acoustic
Gallery
Services
Opus3 records Hercules II Power Supply Upgrade for Linn Sondek LP12
Tritonix Record Cleaning Fluid น้ำยาเช็ดแผ่นเสียง คุณภาพดี ราคาประหยัด ซื้อ 2 ขวด แถมผ้าเช็ดแผ่น 1 ผืน ฟรีี
Accapted
|
ReviewsViola PH1 The Inspiration Phono Stage. ฿฿฿
Viola PH1 Phono Stage Introduction ถ้าจะถามว่า อะไรเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดของการเล่นแผ่นเสียง คำตอบจาก100คนนั้น 50คนแรกคงเป็นหัวเข็ม 20คนต่อมาคงเป็นโทนอาร์ม อีก20คนคงเป็นแท่นแล้วที่เหลืออีก10คนสุดท้ายถึงจะเป็น Phono Stage กระมัง ซึ่งที่จริงแล้วการเล่นแผ่นเสียงที่ให้ผลเต็มที่และคุ้มค่าที่สุดนั้นอุปกรณ์ทุกชิ้นควรจะสมน้ำสมเนื้อกัน หากมีอุปกรณ์ชิ้นใดชิ้นหนึ่งแปลกแยกต่างชั้นจากชิ้นอื่นๆ ไม่ว่าจะดีเกินไปมันก็จะไม่แสดงคุณภาพได้เต็มที่หรือชิ้นใดมีคุณภาพต่ำกว่าชิ้นอื่นมากก็จะพลอยทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมด้อยลงเช่นกัน สังเกตได้ว่านักเล่นส่วนมากมักจะมุ่งเสาะหาคุณภาพเสียงที่พึงพอใจจากหัวเข็มแต่มักมองข้ามอุปกรณ์ที่เป็นหัวใจของหัวเข็มคือ Phono Stage ที่มีคุณภาพ แต่กลับไปเน้นคุณภาพภาคขยายเสียงของ Pre-Amp.กับ Power Amp.มากกว่า ซึ่งผู้ที่มีประสบการณ์ในการเล่นแผ่นเสียงมาพอสมควรจะทราบดีว่า Phono Stage ที่ดีนั้นเปรียบได้เหมือนราชินีที่อยู่เบื้องหลังกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทีเดียว เพราะหัวเข็มที่ดีที่สุดย่อมต้องการ Phono Stage ที่ดีที่สุดเช่นกัน อย่างที่กล่าวมาข้างต้น วิธีการเล่นแผ่นเสียงของผมจึงพยายามเลือกอุปกรณ์ทุกๆชิ้นให้สมน้ำสมเนื้อกันในระดับราคาที่พอสมควร เพราะการเล่นบนพื้นฐานของความประหยัดแต่สามารถได้เสียงดนตรีอย่างเต็มที่คุ้มค่าสตางค์ที่จ่ายไปนั้น ผมถือเป็นความสำเร็จของการเล่นเครื่องเสียงในอีกแง่มุมหนึ่งที่ทำให้เราสามารถเล่นได้สนุกและเล่นได้นาน ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาการเสาะหา Phono Stage ดีๆในราคาพอสมควรนั้นเป็นเรื่องที่ผมพยายามอยู่เสมอตามกำลัง ซึ่งส่วนมากมักจะเป็น Phono Stage จากต่างประเทศเพราะมีมากรุ่นมากยี่ห้อ ลองซื้อมาเล่นตั้งแต่ราคาไม่กี่พันจนถึงหลายหมื่นบาทก็ทำให้ได้ประสบการณ์พอสมควร แต่ Phono Stage ของไทยนั้นกลับเป็นสิ่งที่หาซื้อยากและไม่ได้รับความเชื่อถือเท่าที่ควร ซึ่งจากที่ได้พูดคุยกับคนรักแผ่นเสียงหลายๆท่านใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ผมได้ยินชื่อ Phono Stage ของ Viola อยู่เสมอแต่ไม่สามารถหาซื้อได้สักที หรืออาจเป็นเหตุบังเอิญก็ได้ที่ว่าเวลาผมอยากได้ทีไรนั้นทางร้านขายหมดแล้ว ล่าสุดนี้ก็เช่นเคย คำตอบจากร้านตัวแทนจำหน่ายบอกว่าของขาดโดยไม่มีกำหนด ผมจึงตัดสินใจติดต่อและเดินทางไปพบกับผู้ผลิตโดยตรงเพื่อขอซื้อ Viola PH1มาทดลองฟังให้หายสงสัยกันเสียที ครั้งนี้โชคเข้าข้างครับ ผมได้ Viola PH1 กลับมาทดลองฟังที่บ้านก่อนเขียน review นี้ประมาณหนึ่งเดือน และเกร็ดเล็กๆน้อยๆที่ผมทราบมาของเครื่องเสียง Viola นี้มีความพิเศษอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ เป็นเครื่องเสียงที่ผู้ผลิตและออกแบบเป็นนักดนตรีที่ให้ความสำคัญของการถ่ายทอดเสียงสำเนียงดนตรีอย่างจริงจังอีกด้วย Appearance Exterior แรกที่ผมได้เห็น Viola PH1นั้นมันเป็น First Impression ที่ไม่เลวเลยทีเดียว จากรูปร่างหน้าตาที่เรียบง่ายและผลิตด้วยวัสดุคุณภาพดีอย่างประณีตนั้น ทำให้ Viola PH1 มองดูเป็นเครื่องเสียงที่มีมาตรฐานเทียบเคียงกับของต่างประเทศได้อย่างสบาย เริ่มจากเพลทหน้าเครื่อง Viola PH1ใช้แผ่นอลูมิเนียมเกรดดีหนาถึง 6 มม.ปัดผิวเสี้ยนยึดด้วยน๊อตสเตนเลส พร้อมไฟแสดงการทำงานของเครื่องและสกรีนชื่อยี่ห้อและรุ่นเรียบร้อยสวยงาม เป็นรูปแบบหน้าตาที่ Phono Stage ชั้นดีของต่างประเทศนิยมใช้โดยทั่วไป ท้ายเครื่องวางตำแหน่งใช้งานได้เหมาะสมและสะดวก ขั้วสายสัญญาน input/output ชุบทองจัดวางไม่ชิดหรือห่างกันเกินไป ขั้วสายดินมีขนาดใหญ่แข็งแรงพร้อมสายไฟ AC ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ สวิทซ์เปิด/ปิดอยู่ด้านหลังเครื่อง มีฝาครอบเครื่องสีขาวเทาซึ่งอาจจะถูกใจหรือไม่ถูกใจใครบางคนแต่ผมว่าสีดำสวยกว่า สุดท้ายที่น่าทึ่งคือ Viola PH1ตัวนี้มีน้ำหนักถึง 6.5 กก.ทีเดียว ซึ่งทำให้น่าสงสัยว่า Viola PH1ตัวนี้ซ่อนอะไรไว้ข้างในบ้าง
ด้านหน้าและด้านหลัง Viola PH1 Interior ลองเปิดฝาเครื่องดูกันให้หายสงสัยเสียที เห็นแล้วก็หายสงสัยครับ การจัดตำแหน่งอุปกรณ์ภายในของ Viola PH1แบ่งออกเป็น 2 ส่วนซ้าย/ขวา ซีกข้างขวาเป็นภาคขยายสัญญานใช้หลอด 12AX7WA ของ Sovtek จำนวน 3 หลอดพร้อมวงจรอันเป็น format ที่นิยมกันมากในการออกแบบวงจร Phono Stage ส่วนซีกข้างซ้ายนั้นเป็นตำแหน่งของ transformer และภาคจ่ายไฟซึ่งถูกครอบด้วยฝาครอบอลูมิเนียมสีฟ้าอะโนไดซ์ ซึ่งจากที่ได้พูดคุยกันนั้น ผู้ออกแบบได้อธิบายว่าการครอบฝาภายในอีกชั้นหนึ่งนี้เป็นการป้องกันการรบกวนระหว่างกัน ส่วนเรื่องการใช้ฝาครอบสีฟ้าอะโนไดซ์นั้นไม่ใช่เพื่อความสวยงามแต่อย่างใด หากแต่จากการทดลองของผู้ออกแบบพบว่าสีฟ้ามีอิทธิพลที่ดีต่ออิเลคตรอนของหลอดสุญญากาศมากที่สุด แล้วเมื่อถอดฝาครอบภาคจ่ายไฟออกมาก็จะปรากฏ transformer ขนาดใหญ่จัดวางร่วมกับวงจรอย่างเรียบร้อยสวยงาม
การวางตำแหน่งวงจร ของ Viola PH1 Technical spec. MM, MC high output cartridge only Input impedance : 47 k Ohms Input sensitivity @ 1V output : 7.4 mV @ 1kHz Signal to noise ratio : 60.6 dB (weighted A) THD. (20 Hz - 20 kHz) : 0.141% Dynamic range : 72.5 dB Stereo cross talk : -72.3 dB Phase : Normal Tube complements : 3 x 12AX7WA (Sovtek) or 7025 Pure tube Phono Stage with passive RIAA zero negative feedback Power consumption : 60W / 220V / 50Hz Size (W x H x D) : 45 x 19 x 9 cm. Weight : 6.50 kgs. Sound ผมได้ใช้เวลากับ Viola PH1 ตัวนี้ประมาณหนึ่งเดือนกับแผ่นเสียงที่ผมคุ้นเคยและชอบเล่นเป็นประจำอยู่หลายแผ่น ก็ต้องบอกก่อนว่าการทดลองฟังของผมจะเน้นในเรื่องความใกล้เคียงของน้ำเสียงจากเครื่องเสียงกับเครื่องดนตรีจริงมากกว่าเรื่องของ Image และ Soundstage เนื่องจากน้ำเสียงนั้นเป็นอรรถรสของการฟังเพลงที่แท้จริง การทดลองฟังวิธีหนึ่งที่ผมมักใช้เป็นประจำคือการเล่นเครื่องเสียงอยู่ในห้องหนึ่งแล้วลองไปฟังเสียงอีกห้องหนึ่ง หากเสียงเพลงที่ผมได้ยินมีความใกล้เคียงเหมือนมีคนมาร้องหรือมีวงดนตรีมาเล่นอยู่จริงๆในอีกห้องนั้นแล้ว มันจะเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจของการฟังเพลงสำหรับตัวผมอย่างมากทีเดียว ผมเริ่มทดลองฟัง Viola PH1 โดยจับคู่กับ EAR 834 ซึ่งเป็น Integrated Amp.หลอด ประเภท Push-Pull Pure Class A กำลังขับประมาณ 50W/CH.เป็นอันดับแรก สัปดาห์แรกของการทดลองฟังก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจนักเพราะระยะเวลา break in ของเครื่องตามที่ผู้ออกแบบเคลมไว้นั้นจะต้องใช้เวลาประมาณ 50 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ผมจึงเพียงแต่นำแผ่นเก่าๆที่เก็บไว้มาหมุนเวียนเล่นโดยไม่ได้สนใจฟังเท่าไรนัก เรื่องเสียงจี่ก็มีเล็กน้อยตามประสา Phono Stage แต่จะได้ยินก็ต่อเมื่อเงี่ยหูเข้าไปชิด tweeter แบบนี้ผมถือว่า "เงียบ" ครับ จนกระทั่งเข้าสัปดาห์ที่สองเสียงที่เคยหุบๆขาดชีวิตชีวาก็เริ่มมีประกายขึ้น เสียงจาก Double Bass ทั้งดีดและสีของ Ray Brown ในแผ่นชุด Ray Brown & Laurindo Almeida - Moonlight Serenade ได้อารมณ์เศร้าสร้อยจริงๆ เสียงต่ำลึกรู้สึกถึงการขยับสั่นตัวของสายเมื่อถูกับคันชักอย่างสมจริง ต่อมากับแผ่น Jazz at The Pawnshop ซึ่งเป็นแผ่นที่ได้ชื่อว่าบันทึกเสียง Live Music ที่ให้บรรยากาศดีมากๆชุดหนึ่งนั้น Viola PH1 สามารถถ่ายทอดรายละเอียดเสียง background ที่ผู้คนกำลังพูดคุยสังสรรค์ขณะดนตรีกำลังบรรเลงใน pub อย่างได้บรรยากาศ เสียงฉาบแฉมีประกายทอดยาว เสียงกลองที่เด่นมีแรงปะทะอย่างน่าฟัง ต่อมาสำหรับแผ่น Patricia Barber - Night Club นั้น ฟังแล้วได้รับรู้ถึง Accent จากการขยับริมฝีปากของนักร้องขณะบันทึกเสียงได้ชัดเจนให้เสียงย่านกลางที่ใสสะอาด สุดท้ายที่ตั้งใจฟังมากๆ คือ Berlioz Symphonie Fastastique - The Royal Philhamonic นั้น เสียงของเครื่องเป่าทองเหลืองแผดได้สมจริงอย่างน่าฟัง เป็นเสียงที่พุ่งออกมาจากลำโพงอย่างมีพลัง ทั้งหมดนี้โดยรวมแล้วผมออกจะพอใจกับน้ำเสียงและกำลังของ Viola PH1เป็นอันมาก แต่ก็ยังมีเรื่องที่ไม่ถูกใจอยู่อย่างหนึ่งคือ "ความอืด" ที่ค่อนข้างจะทำให้การฟังในบางเพลงรู้สึกอึดอัดอยู่บ้าง การทดลองฟังอันดับต่อมา ผมจึงลองเปลี่ยน integrated จาก EAR 834 มาใช้ Luxman L507s ซึ่งเป็น transistor กำลังขับ 100W/CH.ที่มีน้ำเสียงแบบ tube like ดูบ้าง ผมรู้สึกได้ทันทีว่าเสียงที่ฟังอืดอุ้ยอ้ายนั้นดีขึ้นมากทีเดียว กระชับและเร็วขึ้น แต่เสียงกลางต่ำที่ลงลึกและเสียงสูงที่มีประกายทอดยาวจะด้อยกว่าเล็กน้อย ส่วนเรื่อง Image และ Soundstage ก็ทำได้ดีน่าพอใจเช่นกันแต่ไม่ถึงกับเด่น Viola PH1สามารถกำหนดขนาดเวทีตลอดจนตำแหน่งของเครื่องดนตรีและนักร้องได้ชัดเจนพอสมควร ส่วนเรื่อง แรงปะทะ นั้นทำได้ดีในการทดลองฟังทั้งสองแบบ อีกทั้งยัง ไม่มีอาการเครื่องร้อน ตลอดระยะเวลาที่ฟังต่อเนื่องถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของ Viola PH1ตัวนี้เลยทีเดียว สุดท้ายผมได้ลองนำ Viola PH1ไปเปรียบเทียบกับ Phono Stage ยี่ห้ออื่นดูบ้าง โดยเลือกประกบกับ Sonneteer Sedley (40,000 ฿) ซึ่งเป็นเครื่อง transistor ที่สามารถปรับ load/gain เล่นได้กับหัวเข็มทุกประเภท โดยทดลองฟังซ้ำในลักษณะเดิมอีก 2-3 รอบ ปรากฏว่า Sedley ให้เสียงที่เนียนกว่าเล็กน้อยและค่อนข้าง Flat แต่ในเรื่องของพละกำลังนั้นยังเป็นรอง Viola PH1อย่างเห็นได้ชัดจนทำให้ Sedley ฟังดูออกจืดไปเลย แต่ Viola PH1นี้จะต้องมีเวลา warm-up ประมาณ 40 นาทีจึงจะแสดงประสิทธิภาพอย่างเต็มกำลัง ส่วน Sedley นั้นแค่ 10 นาทีก็เดินหน้าเต็มตัวได้แล้วครับ
Viola PH1 vs. Sonneteer Sedley Final "กลางเด่นมีประกาย ต่ำลึกอืดเล็กน้อย สูงทอดไกลให้รายละเอียด" น่าจะเป็นคำจำกัดความที่สามารถอธิบาย Viola PH1จากการทดลองฟังของผมได้อย่างชัดเจน หัวเข็มที่เหมาะกับ Phono Stage ตัวนี้ควรจะให้เสียงค่อนข้างจัดสักนิดจึงเหมาะสมกัน บางท่านอาจจะชอบหรือไม่ชอบ "ความอืด" ก็เป็นเรื่องที่ชดเชยแก้ไขได้จากการ Matching ของอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันได้ แต่น้ำเสียงของ Viola PH1นี้ถือว่าผ่านครับ เป็น Phono Stage ตัวหนึ่งที่ทำให้เรากลับไปหยิบแผ่นเก่าๆที่เก็บไว้จนลืม มาฟังอีกครั้งด้วยความรู้สึกใหม่ๆอย่างมีความสุข หากได้หลอดที่มีคุณภาพสูงกว่านี้อีกล่ะก็ ผมว่า Phono Stage ตัวนี้คงสร้างความประทับใจได้มากกว่าที่กล่าวมาอย่างแน่นอน และที่สำคัญคือเป็นเครื่องเสียงที่ออกแบบและผลิตด้วยมือของคนไทยที่น่าภูมิใจ "หากไทยไม่ศรัทธาไทยด้วยกัน จะหวังโลกศรัทธาไทยได้อย่างไร" และนี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมพยายามตามหา Viola PH1ตัวนี้ครับ ฿฿฿ จุดเด่น - มีความเป็นดนตรีสูง - ชิ้นงานประณีตแข็งแรงมีมาตรฐาน - มีกำลัง ไม่ร้อน และเงียบ จุดด้อย - ย่านต่ำค่อนข้างอืดเล็กน้อย - เล่นได้เฉพาะหัวเข็ม MM และ MC High Output Systems EAR 834 Push/Pull Pure Class A Integrated Amp. (50W./CH) Luxman L507s Integrated Amp. (100W./CH) VPI HW-19 jr. / RB250 Incognito Tonearm Grado Prestige Green Cartridge Viola PH-1 Phono Stage TOTEM Rainmaker Speaker Vampire CC-1 Interconnect Cable Transparent Music Link Speaker Cable หมายเหตุ : ได้รับการยืนยันจากผู้ผลิต Viola ในเรื่องการ QC คุณภาพผลิตภัณฑ์ทุกชนิดว่าจะมีมาตรฐานเช่นเดิม รวมถึง Viola PH1ในสต๊อกทั้งเก่าและใหม่ด้วย จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจได้ทราบโดยทั่วกัน |
Vinyl Club The New Player Things about TT Tonearm Setup Nature of Tonearm The Cartridge Mat and Clamp LP Tips Reviews TS Audio PH1 NAD PP1 VCL RB250 Incognito Viola PH1 PHR Speaker ZA-D23 Aurora MKII LP Shop Origin Live Rega ZA Isokinetik ASR TT Accessories Audio Equipment Acoustic Room Treatment L.O.B. BassTraps Gallery His Master's Voice Friend's TT TT Collection Services Second Hand Write to us Vinyl Forum
Send mail to
musicfountain@yahoo.com with
questions or comments about this web site.
|