T h e f i r s t w e b s i t e f o r v i n y l l o v e r s i n T h a i l a n d
|
Vinyl Club
Reviews
LP Shop
Acoustic
Gallery
Services
Opus3 records Hercules II Power Supply Upgrade for Linn Sondek LP12
Tritonix Record Cleaning Fluid น้ำยาเช็ดแผ่นเสียง คุณภาพดี ราคาประหยัด ซื้อ 2 ขวด แถมผ้าเช็ดแผ่น 1 ผืน ฟรีี
Accapted
|
Friend's TT Friend's TT คือ หน้าเว็ปไซท์สำหรับคนที่รักแผ่นเสียงทุกท่าน ได้นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงและอุปกรณ์ของตนด้วยความภูมิใจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องที่มีราคาแพงหรือยี่ห้อ/รุ่นที่หายากแต่อย่างใด เพียงท่านได้รับความสุขและเพลิดเพลินจากเครื่องตัวนั้น ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือปัจจุบัน ท่านก็สามารถนำมาลงได้ในหน้านี้เพื่อฝากไว้เป็นที่ระลึก เป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งที่น่าชื่นชมระหว่างผู้ที่รักในสิ่งเดียวกัน ขอให้ท่านรีบส่งภาพถ่ายดิจิตอลพร้อมคำบรรยาย มาที่ musicfountain@yahoo.com ไม่นานนักเราจะนำเรื่องราวของท่านมาประดับไว้ในหน้านี้ต่อไป DIY TT owner : คุณยุทธ บางบัวทอง กรุงเทพฯ เรื่องนี้สืบเนื่องมาจาก คุณยุทธ นักเล่นเครื่องเสียงที่ชอบ DIY เป็นชีวิตจิตใจ ได้ปรารภกับผมในเรื่องที่จะทำแท่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงเองสักตัวหนึ่ง แต่ยังติดปัญหาอยู่ที่จะใช้วัสดุอะไรที่เหมาะสม ง่าย และราคาไม่แพงจนเกินไป ซึ่งหลังจากที่ได้ปรึกษากันแล้วก็สรุปได้ว่าแผ่น MDF น่าจะเป็นวัสดุที่พึงประสงค์ที่สุด โดยผมจะขอเป็นธุระจัดการให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างที่สมบูรณ์ตาม spec ที่คุณยุทธได้กำหนดมาให้
รูปแสดง เครื่องเล่นแผ่นเสียง DIY ของคุณยุทธที่ประกอบเสร็จแล้ว งานนี้ผมจึงต้องมองหาช่างไม้ฝีมือดีมาเป็นแรงสำคัญอีกแรงหนึ่ง ซึ่งก็ได้ คุณฐิติ จิรยุส เจ้าของกิจการบริษัท บลูคอลล่า จำกัด ที่เห็นว่างานนี้เป็นงานท้าทายซึ่งต้องมีความละเอียดประณีตเป็นพื้นฐานสำคัญ มาเป็นผู้ผลิตชิ้นงานโดยมีผมเป็นผู้ควบคุมคุณภาพให้ได้ตามกำหนด ความสนุกจึงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลางปี 2546 นั่นเอง โดยเริ่มจากนำแผ่น MDF ขนาดความหนา 1.9 มม.มาอัดกาวซ้อนเข้าด้วยกัน 5 ชั้น เพื่อให้ได้ความหนารวมประมาณ 4 นิ้ว ยึดเข้า clamp ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ แล้วจึงนำแผ่น MDF ที่อัดจนได้ที่ดีแล้วมาเข้าเครื่องเลื่อยฉลุเพื่อตัดออกมาตามแบบของแท่นและ armboard งานนี้เครื่องมือช่างตามบ้านเรือนทั่วๆไปคงจะใช้ไม่ได้เพราะความหนาของชิ้นงาน เราจึงต้องการเครื่องมือที่มีความเร็วสูงและแม่นยำ ก็ได้เครื่องเลื่อยฉลุในโรงงานของคุณฐิติจัดการจนเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็เล่นเอาทุลักทุเลพอสมควรเหมือนกัน เนื่องจากการเจาะช่องติดตั้งชุด bearing นั้นเครื่องมือเจาะระดับงานเฟอร์นิเจอร์ไม่แม่นยำเพียงพอ เนื่องจากผิดพลาดได้เพียงไม่เกิน 1 มม.เท่านั้น อีกทั้งจะต้องเจาะช่องให้ตั้งฉาก 90 องศาพอดี เอียงแม้เพียงเล็กน้อยไม่ได้อย่างเด็ดขาด หลังจากทดลองเจาะกับชิ้นทดลองพลาดไปเป็นรอบที่สอง ก็ตกลงกันว่าคงจะต้องนำไปขึ้นแท่นของโรงกลึงจึงจะทำการนี้ได้สำเร็จ ซึ่งก่อนนำชิ้นงานนี้ขึ้นแท่นทางโรงกลึงจะต้องทำการล้างแท่นกลึงให้สะอาดปราศจากคราบน้ำมัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเวลาทำสีชิ้นงาน สรุปว่ากว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ก็เล่นเอาหัวหมุนใช้ได้ทีเดียว เสร็จแล้วก็นำชิ้นงานทั้งหมดนี้ไปทำสี ซึ่งก็ได้ขัดแต่งชิ้นงานอย่างละเอียดแล้วพ่นเป็นสีดำเพื่อให้ดูเรียบร้อยสวยงาม
รูปแสดง ฐานแท่นเครื่องตามแบบเมื่อแล้วเสร็จ ลักษณะของเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวนี้จะเป็นแบบ rigid ไม่มีระบบรองรับ (unsuspension) ติดโทนอาร์ม 2 ตัวบน swing armboard เพื่อให้สามารถปรับระยะ spindle to pivot ได้กับโทนอาร์มทุกแบบ โดยเบื้องต้นนี้คุณยุทธได้ตั้งใจไว้ว่าจะติดตั้งโทนอาร์ม Graham 1.5 ร่วมกับ Hadcock 228 Platter เป็นของ Teres Audio ทำจากอาครีลิค 3 ชั้น รวมความหนาประมาณ 3 นิ้ว แต่ผมได้ให้ข้อเสนอแนะกับคุณยุทธว่าน่าจะทำอาร์มบอร์ดใหม่เป็นอาครีลิคใสจะสวยงามกว่ามาก ซึ่งจะเข้ากับ platter ที่ทำจากอาครีลิคเช่นเดียวกัน
รูปแสดง อุปกรณ์ bearing, boot และ platter ของ Teres Audio มาดูระบบขับเคลื่อนอีกอย่างหนึ่งซึ่งก็ต้องยอมรับความเป็นนัก DIY ของคุณยุทธเป็นอย่างมาก ที่ได้นำเอามอเตอร์ในเครื่องเล่น VDO มาบรรจุลงกระป๋องถ่วงน้ำหนักด้วยตะกั่วตกปลาเพื่อเป็นมอเตอร์แบบ stand alone พร้อมทั้งสายพานที่ใช้ไหมขัดฟัน (ต่อมาเปลี่ยนไปใช้ยางยืดขอบกางเกงนอนแทน) ประกอบการควบคุมความเร็วรอบด้วยวงจรที่จ้างช่างต่อเอง ส่วน bearing และ platter นั้นคุณยุทธได้ใช้ของ Teres ทั้งหมด
รูปแสดง อุปกรณ์ชุดวงจรควบคุมความเร็วและมอเตอร์ ที่เป็น DIY ทั้งหมด การประกอบแท่นเข้ากับอุปกรณ์อื่นๆนั้น เริ่มจากนำ boot มาติดตั้งลงในช่องที่เจาะไว้บนแท่นพร้อมกับบรรจุแผ่นรองลูกปืนที่ก้น boot ให้เรียบร้อย ก่อนจะหยอดน้ำมันให้ได้ระดับตามคู่มือกำหนด ต่อจากนั้นนำ bearing มาใส่ลงใน boot แล้วจึงติดตั้ง platter เสร็จแล้วจึงหมุน platter ไปมาเพื่อไล่อากาศออกจาก boot ให้หมด จะเห็น bearing ค่อยๆลดระดับลง ไม่เช่นนั้น bearing จะถูกอากาศดันให้ลอยโด่เด่
รูปแสดง การติดตั้งชุด bearing บนแท่นเครื่อง
รูปแสดง การติดตั้ง platter บนแท่นเครื่อง รอจน bearing ลดตัวลงจนสนิทเป็นที่เรียบร้อย จึงนำ armboard มาติดตั้งเข้ากับแท่นเครื่องทั้ง 2 ข้างเพื่อใช้กับ tonearm 2 ตัวซึ่งจะนำ Hadcock 228 มาติดตั้งเป็นตัวแรกเพื่อทดลองดูก่อน โดยติดหัวเข็มของ Audio Technica รุ่น AT440ML ซึ่งหัวเข็ม mm รุ่นสูงที่ราคาประหยัดและเพื่อให้เป็นเครื่องเล่นที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นจึงต้องมี clamp ของ Michell มาร่วมด้วยอีกหนึ่งชิ้น
รูปแสดง โทนอาร์ม Hadcock 242 พร้อมหัวเข็ม เมื่อติดตั้งเรียบร้อย สรุปราคาค่าตัวของแท่นเครื่องเล่นนี้ตกประมาณ 3,000 บาท ใช้เวลาว่างค่อยๆทำกันไปกว่าจะเสร็จก็ร่วม 3-4 เดือน ยังไม่รวมราคา platter และ bearing ส่วนโทนอาร์มนั้นอีกต่างหาก ซึ่งที่จริงคิดแล้วกำเงินไปซื้อเขามาเล่นน่าจะคุ้มกว่า แต่สิ่งที่ได้จากงานนี้นั้นเราได้มากกว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงหนึ่งตัว เพราะผมได้เพื่อนที่ชอบเล่นแผ่นเสียงอีกคนหนึ่งครับ แล้วหากเครื่องเล่นตัวนี้มีอะไร upgrade ขึ้นไปอีก ผมก็จะนำเรื่องราวมาเสนอเพิ่มเติมต่อไป ผมขอนำเรื่องเพิ่มเติม จาก คุณยุทธ ที่ได้ส่งมาให้ทาง email มาลง update ต่อจากที่ได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นความคืบหน้าของการ DIY เครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวนี้ พร้อมได้รับเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆและความเพลิดเพลิน ขอเชิญชมตามสบายครับ
รูปแสดง การติดตั้งโทนอาร์ม Graham 1.5 เพื่อเล่นสลับกับ Hadcock 228 ล่าสุดคุณยุทธได้ปรับปรุงเครื่องเล่นตัวนี้อีกหลายจุด เริ่มจากหัวใจสำคัญคือมอเตอร์ขับเคลื่อน หลังจากได้ลองผิดลองถูกมาตั้งแต่มอเตอร์ที่ถอดจาก Thorens TD 280 ซึ่งมีแรงบิดไม่พอหมุน platter ที่หนักร่วม 5 กิโลกรัมได้ อีกทั้งมอเตอร์ DC ที่ถอดมาจากเครื่อง VDO เครื่องเล่นเทปติดรถยนต์ มอเตอร์ Mitsubishi ตัวละ 60 บาทซื้อแถวบ้านหม้อใช้ร่วมกับชุด voltage regulator ราคา 250 บาท ก็ให้รอบหมุนที่ไม่ stable แถมเสียงครางของมอเตอร์ดังจี๋ๆๆ หันมาเล่นมอเตอร์บ้านหม้อ AC 24V ตัวละ 380 บาท ก็ให้รอบที่ stable พอใช้แต่หมุนไม่เรียบซึ่งคงเป็นอาการที่เรียกว่า cogging สุดท้ายมาลงตัวกับมอเตอร์ AC 16 poles ที่ถอดมาจากเครื่องเล่น Dual โดยปรับขนาด pulley ให้เส้นรอบวงใหญ่ขึ้น ปรากฏว่าใช้ได้ดีมาก รอบนิ่งและเงียบ ซึ่งคุณยุทธได้ติดตั้งมอเตอร์ตัวนี้โดยยึดบนกระป๋องทองเหลืองถ่วงด้วยตะกั่วตกปลาเพื่อเพิ่มน้ำหนัก อีกเรื่องหนึ่งคือ สายพาน ที่แต่เดิมก็ลองใช้มาตั้งแต่ dental foss แต่พอใช้นานไปด้ายจะแตกเป็นฝอยหลุดติดแกนมอเตอร์ ส่วน elastic ขอบกางเกงก็ใช้ได้ดีแต่มีเสียงดังรบกวนมากพอควร สุดท้ายเวลานี้จึงมาลงเอยกับด้ายเย็บผ้านำมาถักเป็นเปียให้เส้นใหญ่ขึ้น ผลเป็นที่น่าพอใจไม่มีเสียงรบกวนใดๆเลย
รูปแสดง มอเตอร์จากเครื่องเล่น Dual กับสายพานที่ถักจากด้ายเย็บผ้า ปัจจุบันคุณยุทธได้ติดตั้งโทนอาร์มเพิ่มอีก1ตัว คือ Graham 1.5 ติดหัวเข็ม MC ของ Denon รุ่น DL304 โดยติดตั้งบนกระป๋องทองเหลืองถ่วงน้ำหนักเช่นเดียวกับมอเตอร์ ไม่ได้อยู่บนแท่นเหมือนกับโทนอาร์ม Hadcock 228 ที่ติดตั้งไว้ก่อนหน้านี้ สรุปน้ำเสียงในเบื้องต้นนี้คุณยุทธบอกว่าเป็นที่น่าพอใจ แต่เนื่องจากยังไม่มีตัวเปรียบเทียบจึงไม่สามารถกล่าวอะไรได้มากนัก ที่สนุกคือสามารถสลับฟังอาร์มและหัวเข็มได้ตามอารมณ์และแนวเพลงได้สะดวก หมายเหตุ : ล่าสุดได้เปลี่ยนสายพานเป็นของ VPI HW19 jr. แต่เป็นของเก่าที่ผม (ผู้เขียน) เปลี่ยนกับเครื่องเล่นที่บ้าน จะทิ้งก็เสียดายเพราะสภาพยังดียืดมากกว่าเส้นใหม่เล็กน้อย จึงส่งทางไปรษณีย์ไปให้คุณยุทธทดลองใช้แทนเส้นด้าย ปรากฏว่าใช้งานได้ดีมากถือเป็นการ re-use ประหยัดทรัพยากรไปในตัว AR EB-101 The Legend owner : คุณสรศักดิ์ ลาดพร้าว กรุงเทพฯ สายๆของเช้าวันหนึ่งผมได้รับโทรศัพท์จากคุณสรศักดิ์ฯโทร.มาปรึกษาเรื่องเครื่องเล่นแผ่นเสียงมีเสียง hum แต่มาแปลกอยู่ว่าเอาเครื่องไปลองที่ไหนก็ไม่ hum แต่กลับมาเล่นที่บ้านมีปัญหาทุกที คุณสรศักดิ์จึงได้ตัดสินใจนำมาให้ผมช่วยเอาไปลองเล่นดูทีว่าจะมีปัญหาหรือไม่ ซึ่ง TT Lover อย่างผมก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับ AR EB-101 ซึ่งเป็น TT อีกตัวหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นตำนานที่หลายๆท่านยังจดจำได้ดี AR EB-101 วางตลาดครั้งแรกเมื่อประมาณกลางยุค 1980 หรือเมื่อ20ปีมาแล้วโดยเป็น TT ระบบ spring suspened 3 จุด ระบบ belt drive ติดโทนอาร์มหน้าตาคล้ายๆ Audio Quest PT6 พร้อมหัวเข็ม Shure M97xE แท่นทำด้วยไม้อัดปิดทับด้วย veneer ไม้ walnut เซาะร่องรอบแท่นเพื่อไม่ให้ดูเทอะทะ มีไฟแสดงการทำงานสีส้มที่มุมซ้ายด้านหน้า เครื่องรุ่นนี้มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวตรงที่ขอบ platter และครอบฝาเครื่องมีลักษณะตัดเฉียงสอบขึ้น
รูปแสดง ลักษณะโดยรวมของ AR EB-101 "The Legend" โดยเฉพาะในส่วนของ platter นั้นมีหน้าตาและโครงสร้างคล้ายกับ Linn Sondek LP12 มากทีเดียว หลังจากที่ได้มีโอกาสเล่น AR ตัวนี้อยู่ถึงหนึ่งสัปดาห์ จุดเด่นที่รับรู้ได้อย่างชัดเจนก็คือ AR EB-101 นี้ให้เสียงกลางต่ำลงได้ลึกและทอดยาว มอเตอร์ความเร็วรอบเที่ยงตรงมากแม้จะมีอายุใช้งานเกือบ20ปี ตลอดจนมีโทนอาร์มและระบบ suspension ที่ tracking ได้แม่นยำและแน่นอน ขนาดรถไฟตู้สินค้าวิ่งผ่านห่างจากตัวบ้านเพียง 20 เมตรจน platter สั่นเป็นเจ้าเข้า เครื่องตัวนี้ก็ยังเล่นแผ่นอยู่ได้ไม่มีสะดุดตกร่องแต่อย่างใด ทำให้ผมนึกถึงในคู่มือ Linn Sondek LP12 ที่กล่าวถึงการ setup ไว้ว่าหากทำการ setup ได้สมบูรณ์ดีแล้ว เวลาเล่นแผ่นจะต้องสามารถเอานิ้วกดบน spindle แล้วปล่อยให้ platter กระดอนขึ้น-ลงได้โดยที่หัวเข็มไม่ตกร่อง ซึ่ง AR ตัวนี้ก็สามารถผ่านจุดนี้ได้เช่นกัน จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไม TT Lover ในต่างประเทศจึงขนานนาม AR EB-101 นี้ว่า " The poor man's Linn " และนี่คือ TT ที่เป็นต้นแบบของ Linn Sondek Lp12 Thorens TD125 ตลอดจน Ariston RD11S
รูปแสดง หลอดไฟแสดงการทำงานของเครื่องที่ด้านหน้าแท่นมุมซ้ายบน
รูปแสดง platter และ sub-platter ที่ลักษณะเหมือนกันกับ Linn LP12 ส่วนปัญหาการ hum ที่เกิดขึ้นตามคำบอกเล่าของคุณสรศักดิ์ฯนั้น ไม่ปรากฏแม้แต่น้อยตลอดเวลาการทดลองฟังที่บ้านของผม อีกทั้งเมื่อได้คืนเครื่องให้แก่เจ้าของกลับไปเล่นที่บ้านก็ไม่ปรากฏเสียง hum อีกเลย จึงน่าจะเป็นไปได้ที่ว่าอาจจะมีสายไฟบางเส้นเกิดการหลวมหรือแตะกับโลหะทำให้เกิด ground loop พอขยับไปขยับมาเกิดเข้าที่เข้าทางอาการดังกล่าวก็หายเป็นปรกติดี คงจะมีเฉพาะเสียงจี่เบาๆเมื่อแนบหูใกล้ๆกับ tweeter ซึ่งเป็นเรื่องปรกติธรรมดาของ TT ทุกตัว
รูปแสดง tonearm ที่มีหน้าตาคล้าย Audio Quest PT6 จากคำบอกเล่าของคุณสรศักดิ์ฯ ได้ซื้อ TT ตัวนี้มาจากบ้านทวาทศินเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้วในราคาประมาณ 20,000 บาท ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นราคาที่สูงมากทีเดียวในเวลานั้น ซึ่งในปัจจุบันทางบ้านทวาทศินยังคงมีอะไหล่ของ AR EB-101 อยู่ในสต๊อกบางชิ้น หากท่านใดเป็นเจ้าของ TT รุ่นนี้น่าจะซื้อมาเก็บสำรองไว้เพราะนับวันจะหายากขึ้นทุกที หากจะถามความเห็นของผมที่มีต่อ TT ตัวนี้นั้น คงตอบได้ว่า " ชอบครับ อยากได้สักตัว " สุดท้ายนี้คงจะไม่มีอะไรจะกล่าวนอกจาก.....ขอให้สนุกกับแผ่นเสียงครับ
รูปแสดง AR EB-101 อีกมุมหนึ่ง
รูปแสดง Logo รางวัล GRAND PRIX AWARD จากนิตยสาร Audio & Vidio ที่มุมขวาหน้าแท่น
Direct Drive with Tube owner : คุณประยุทธ จ.ตรัง
Technics SL-23 บนแท่นทราย DIY อย่างสวยงาม ขอต้อนรับและขอบคุณ Vinyl Lover อีกท่านหนึ่งซึ่งอยู่ไกลถึง จ.ตรัง คือ คุณประยุทธ คงสุดรู้ ที่ได้สละเวลาส่งรูป TT ที่รักและเล่นอยู่เป็นประจำมาร่วมฝากไว้เป็นอนุสรณ์ในหน้า Friend's TT ของเราซึ่งเป็น TT ระบบ Belt Driven ของ Technics รุ่น SL23 สภาพดีทีเดียว เล่นกับ Pre-amp. Amp. และPhono ของ Viola ทั้งชุดที่คุณประยุทธฯบอกว่าให้เสียงได้ลงตัวอย่างใจชอบเป็นอันมาก ทำให้เวลานี้อยากลองหาTTระบบสายพานดีๆอีกสักตัวมาเล่นสลับเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง โดยหมายตาที่ Rega P3 ซึ่งให้ทางร้านค้าในจังหวัดเป็นธุระสั่งจากตัวแทนในกรุงเทพฯ คิดว่าป่านนี้คงได้ครอบครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถึงอย่างไรคงไม่ยอมทิ้งTTตัวเก่งตัวนี้เป็นแน่
มุมฟังเพลงภายในห้องพักกับเครื่องเสียงครบชุด คุณประยุทธฯ ได้บอกถึงการเล่นเครื่องเสียงของตนเองดังนี้ " เริ่มสนใจเครื่องเสียงมาตั้งแต่เรียน ปวช. โดยเริ่มจากการทำลำโพงเอง หัดประกอบแอมป์เอง เครื่องสำเร็จรูปที่ซื้อมาเล่นเครื่องแรกคือ Magnet SA-4 ลำโพง Tannoy R1 ต่อมาขยับขึ้นมาเล่น Pre/Amps คือ Magnet PV-02 / Magnet MA-5 และ Marantz CD17mk2 ระยะแรกการ setup ทุกอย่างทำตามคู่มือทั้งหมดเพื่อเรียนรู้หลักการ ต่อมาจึงเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการให้เข้ากับรสนิยมของตนเอง" ปัจจุบันคุณประยุทธฯ มีแนวทางที่เป็นของตัวเองอย่างชัดเจนโดยเปลี่ยนแนวการเล่นจากเครื่องโซลิทเสตจมาเป็นเครื่องหลอดของ Viola ทั้งชุด ประกอบด้วย TC15, SA15A และ PH1 รวมถึงการหลงไหลกับเสียงแบบ Analog จากแผ่นเสียงที่ขาดไม่ได้อีกด้วย
ห้องฟังเพลงของคุณประยุทธล่าสุด ล่าสุดนี้คุณประยุทธได้ส่งภาพการเปลี่ยนแปลงของ system ที่ใช้มาให้ได้ชมกัน ซึ่งอุปกรณ์ที่เปลี่ยนไปเท่าที่เห็นในภาพหลักๆก็มี ลำโพง Totem Model1 เครื่องเล่นซีดี Rega และเครื่องเล่นแผ่นเสียง Rega P3 นับว่าเป็นชุดเครื่องเสียงที่ลงทุนสรรหากันอย่างเต็มที่ชุดหนึ่งทีเดียว |
Vinyl Club The New Player Things about TT Tonearm Setup Nature of Tonearm The Cartridge Mat and Clamp LP Tips Reviews TS Audio PH1 NAD PP1 VCL RB250 Incognito Viola PH1 PHR Speaker ZA-D23 Aurora MKII LP Shop Origin Live Rega ZA Isokinetik ASR TT Accessories Audio Equipment Acoustic Room Treatment L.O.B. BassTraps Gallery His Master's Voice Friend's TT TT Collection Services Second Hand Write to us Vinyl Forum
Send mail to
musicfountain@yahoo.com with
questions or comments about this web site.
|